วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

16406-209-18 จักร 4

จักร4

จักร แปลว่า ล้อรถ ล้อรถย่อมหมุนนำผู้ขับขี่รถไปสู่จุดหมาย ธรรมที่ได้ชื่อว่าจักร เพราะเปรียบเสมือนล้อรถ นำบุคคลผู้ปฏิบัติไปสู่ความเจริญ มี 4 ประการคือ

1. ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในประเทศอันควร
2. สัปปุริสูปสังเสวะ การคบสัตบุรุษ
3. อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ
4. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้กระทำบุญไว้ก่อน
1. ปฏิรูปเทสวาสะ

แปลว่า การอยู่ในประเทศอันสมควร หมายถึง การอยู่ในท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ต้องกระทำ เช่น การศึกษา การประกอบอาชีพ การปฏิบัติธรรม การบำเพ็ญสมณธรรม เป็นต้น

ผู้ต้องการศึกษาวิชาการสาขาใด ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีความพร้อมทุกๆ ด้าน เช่น ครู อาจารย์ ตำราเรียน การคมนาคมสะดวก และสิ่งอื่นๆ ที่จะอำนวยให้การเรียนมีประสิทธิภาพ

ผู้ต้องการประกอบอาชีพเพาะปลูก ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีพื้นดินดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชนั้นๆ

ผู้ต้องการประกอบอาชีพค้าขาย ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีประชากรหนาแน่น มีสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคมสะดวก

ผู้ต้องการปฏิบัติธรรม ควรอยู่ในท้องถิ่นที่มีพระสงฆ์ผู้รู้ธรรมและเคร่งครัดในพระวินัย มีผู้สนใจปฏิบัติธรรมกันมาก

ส่วนภิกษุผู้ต้องการบำเพ็ญสมณธรรม คือเจริญภาวนา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไปในที่อันเหมาะสม คือ ป่า โคนไม้ กระท่อมร้าง เป็นต้น

ที่กล่าวข้างต้น หมายถึง ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ แต่ความหมายโดยตรงของจักรข้อที่ ๑ ได้แก่ การอยู่ในท้องถิ่นที่สามารถศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้ดี คือ ท้องถิ่นที่มีคนดีผู้รู้ธรรม
2. สัปปุริสูสังเสวะ (การเข้าไปคบหาคนดี)

แปลว่า การคบสัตบุรุษ สัตบุรุษ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า คนดี คนสงบ ตรงกับภาษาบาลีว่า สัปปุริสะ ผู้ที่เป็นสัตบุรุษหรือสัปปุริสะ ย่อมมีสัปปุริสธรรม 7 ประการประจำตน ได้แก่
1. รู้เหตุ
2. รู้ผล
3. รู้ตน
4. รู้ประมาณ
5. รู้กาล
6. รู้ชุมชน
7. รู้บุคคล

การเข้าไปคบหา ได้แก่ การเข้าไปสนทนาไต่ถาม มอบตัวเป็นศิษย์ รับโอวาทของสัตบุรุษ

เมื่ออยู่ในท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษ คือ คนดีตามจักรข้อ 1 แล้ว ก็เข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษนั้น เป็นจักรข้อที่ 2 สัตบุรุษย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้จักเว้นชั่วประพฤติดี ละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว
4. อัตตสัมมาปณิธิ (การตั้งตนไว้ชอบ)

แปลว่า การตั้งตนไว้ชอบ ตน หมายถึง ร่างกายและจิตใจ การตั้งตนไว้ชอบจึงหมายถึง การตั้งอยู่ในสุจริต 3 คือ

       •  กายสุจริต ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม

       •  วจีสุจริต ได้แก่ การไม่พูดเท็จ การไม่พูดส่อเสียด การไม่พูดคำหยาบ การไม่พูดเพ้อเจ้อ

       •  มโนสุจริต ได้แก่ การไม่อยากได้ของผู้อื่น การไม่คิดพยาบาทผู้อื่น การเห็นชอบตามคลองธรรม
อีกนัยหนึ่ง หมายถึง
       •  การตั้งอยู่ในประโยชน์ปัจจุบัน ได้แก่ การหมั่นหาทรัพย์ การรักษาทรัพย์ไว้ การมีเพื่อนดี การเลี้ยงชีวิตพอเหมาะพอดี
       •  การตั้งอยู่ในประโยชน์ในอนาคต ได้แก่ ความสมบูรณ์ด้วยศรัทธา ความสมบูรณ์ด้วยศีล ความสมบูรณ์ด้วยจาคะ ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา

เมื่อเข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษ และสัตบุรุษแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำตามจักรข้อที่ 2 แล้ว ผู้เข้าไปคบหาสัตบุรุษนั้น ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของสัตบุรุษ ย่อมเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบ
4. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน)

แปลว่า ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน หมายความว่า ได้ทำบุญไว้ในอดีต บุญนั้น
       •  กล่าวโดยเหตุ ได้แก่ กุศลกรรมหรือความดี
       •  กล่าวโดยผล ได้แก่ ความสุข

มีความหมายว่า
       •  คนทำความดีในอดีตย่อมได้รับความสุขในปัจจุบัน
       •  ทำความดีในปัจจุบันย่อมได้รับความสุขในอนาคต
และผู้ที่ทำบุญหรือกระทำความดีนั้นยังได้รับความสุข ได้รับผลดีตอบแทนในขณะที่ทำนั้นด้วยความปิติยินดี ความสุขใจสบายใจที่ได้กระทำความดี การได้รับคำยกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม การได้รับการปฏิบัติตอบที่ดี

ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน อุปมาด้วยการเรียนหนังสือจนสำเร็จ ได้ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร อันเป็นเครื่องแสดงคุณวุฒิให้เข้าทำงานได้ เมื่อทำงานเจริญก้าวหน้า มีตำแหน่งสูงขึ้น มีหลักฐานมั่นคง ก็ได้รับความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ ความสุขนั้นเป็นผลของความดี คือการเรียนหนังสือที่ได้กระทำไว้ในอดีต สำหรับความสุขที่ได้รับตามจักรข้อ 4 นี้ เกิดจากการตั้งตนไว้ชอบตามจักรข้อ 3

จักร 4 มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ข้อแรกๆ เป็นเหตุให้เกิดข้อหลังๆ กล่าวคือ การอยู่ในประเทศอันสมควร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษเป็นให้คบกับท่าน การคบกับสัตบุรุษเป็นเหตุให้ได้ฟัง ได้ศึกษา รู้จักบาปบุญ และละบาปบำเพ็ญบุญเป็นการตั้งตนไว้ชอบ ซึ่งจะได้รับความสุขอันเป็นผลของบุญในกาลต่อมา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้ทำบุญไว้แล้วในกาลก่อน

ทิฏฐธัมมิกัตถะ 4

ทิฏฐธัมมิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์ที่เห็นได้ในปัจจุบัน หรือประโยชน์ในปัจจุบัน หมายความว่า ผู้ใดปฏิบัติตามหลักธรรมนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมได้รับประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมที่ให้ประโยชน์ในปัจจุบันมี 4 ประการคือ

1. อุฏฐานสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร
2. อารักขสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการรักษา
3. กัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีเพื่อนดี
4. สมชีวิตา การเลี้ยงชีวิตพอเหมาะพอดี
1.อุฏฐานสัมปทา

แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยการลุกขึ้นหรือความหมั่น หมายถึง เป็นผู้หมั่นขยันในกิจการที่ทำ ผู้หมั่นขยันจะต้องลุกขึ้นทำงาน ไม่ใช่เอาแต่นอน ไม่ยอมลุกขึ้น งานที่ทำนั้นขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคน เช่น นักเรียนต้องเรียนหนังสือ แม่บ้านต้องทำงานบ้าน ผู้ประกอบอาชีพต้องทำงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จ และให้มีความก้าวหน้า การจะทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ต้องมีความขยันหมั่นเพียร

การประสบความสำเร็จ หมายถึง การทำงานได้มาก มีคุรภาพดี มีรายได้เพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อุฏฐาตา วินัทเต ธะนัง ผู้หมั่นขยันย่อมหาทรัพย์ได้ ยิ่งขยันมากเท่าใด ยิ่งหาทรัพย์ได้มากขึ้น
2. อารักขสัมปทา

แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยการรักษา หมายถึง การรักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร การรักษาทรัพย์ไม่ได้หมายความว่าเก็บไว้โดยไม่ใช้สอย แต่เก็บไว้ให้มีใช้สอยตลอดไป หลักการใช้สอยทรัพย์ในพระพุทธศาสนามีดังนี้ คือ

1. เลี้ยงดูบิดามารดา บุตรภรรยา คนในครอบครัว
2. เลี้ยงดูหรือช่วยเหลือมิตรสหาย
3. ป้องกันและบำบัดภัยอันตรายต่างๆ
4. ทำพลี 5 อย่าง คือ สงเคราะห์ญาติ ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บุพการี เสียภาษีแก่รัฐ บูชาเทวดา
5. บริจาคทานแก่สมณะ ค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ดังกล่าวบางอย่างต้องใช้จ่ายทุกวัน บางอย่างนานๆ ครั้ง บางอย่างใช้จ่ายตามโอกาสอันสมควร จึงต้องมีทรัพย์สำหรับใช้จ่ายตามเหตุการณ์นั้น ๆ การรักษาทรัพย์ไว้ก็เพื่อให้มีใช้จ่าย ไม่ใช่ใช้จ่ายหมดในวันเดียว หรือเก็บไว้ไม่ยอมใช้จ่ายเลย
3. กัลยาณมิตตตา

แปลว่า ความเป็นผู้มีเพื่อนดี หรือความมีเพื่อนเป็นคนดี หมายความว่า คบเฉพาะมิตรแท้ 4 จำพวก คือ

       •  มิตรมีอุปการะ
       •  มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
       •  มิตรแนะประโยชน์
       •  มิตรมีความรักใคร่

ไม่คบมิตรเทียมหรือคนเทียมมิตร 4 จำพวก คือ

       •  คนปอกลอก
       •  คนดีแต่พูด
       •  คนหัวประจบ
       •  คนชักชวนในทางฉิบหาย

เพราะมิตรแท้มีแต่

       •  การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
       •  ส่งเสริมกันในทางดี
       •  สนับสนุนให้ขยันหาทรัพย์
       •  และรู้จักเก็บทรัพย์ไว้ใช้จ่ายตามความจำเป็นหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนคนเทียมมิตร มีแต่จะหลอกลวงให้เสียทรัพย์โดยใช่เหตุ หรือให้สูญทรัพย์จนหมดสิ้น ถึงจะขยันหมั่นเพียรก็รักษาทรัพย์ไว้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการมีเพื่อนเป็นคนดีจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุฏฐานสัมปทา และอารักขสัมปทาดำเนินไปได้ด้วยดี
4. สมชีวิตา

แปลว่า การเลี้ยงชีวิตสม่ำเสมอหรือพอเหมาะพอดี หมายความว่า เลี้ยงชีวิตตามกำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป
       •  สำหรับผู้มีความรู้น้อยรายได้น้อย ถึงจะขยันหมั่นเพียรรายได้ก็เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ให้ใช้จ่ายเพียงพอดี ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป และไม่ควรเอาอย่างผู้มีรายได้สูง เพราะความพอดีของผู้มีรายได้สูงเป็นความฟุ่มเฟือยของผู้มีรายได้น้อย
       •  สำหรับผู้มีรายได้สูง ควรใช้จ่ายเพียงพอดีสำหรับตน ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป และไม่ใช้จ่ายอย่างคนมีรายได้น้อย ซึ่งถือเป็นความฝืดเคืองสำหรับตน

กล่าวโดยสรุป คือ การเลี้ยงชีวิตอย่างพอเหมาะพอดีตามฐานะของตนและปฏิบัติอย่างนี้โดยสม่ำเสมอ

ธรรม 4 ประการนี้เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ ธรรมที่อำนวยประโยชน์ให้ในปัจจุบันทันตาเห็น ประโยชน์นั้น ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริย สุข คือ เป็นผู้มีฐานะมั่นคง มีชื่อเสียงเกียรติคุณ ได้รับการยกย่องโดยทั่วไป และมีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพของตน

สัปปุริสธรรม ๗

สัมปุริสะ เป็นภาษาบาลี ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า สัตปุรุษะ ภาษาไทยใช้ว่า สัตบุรุษ แปลว่า คนดี คนสงบ หมายความว่า เป็นคนดีรอบ
ด้าน และเป็นคนที่สงบจากความชั่ว ไม่ยอมทำความชั่ว สัปปุริสธรรม ข้อปฏิบัติของคนดีมี 7 ประการคือ

1. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ
2. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล
3. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน
4. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
5. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล
6. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน
7. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล

ถ้าเป็นชื่อของธรรม มีคำว่า ตา ต่อท้ายด้วย แปลว่าความเป็น เช่น ธัมมัญญุตา ถ้าเป็นชื่อของบุคคล ใช้ว่า ธัมมัญญู ผู้รู้เหตุ เป็นต้น
1. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ

ธัมมัญญุตา คือความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายถึง

       •  ความรู้จักธรรม
       •  รู้จักเหตุผล
       •  รู้หลักความจริง
       •  รู้หลักการ
       •  รู้หลักเกณฑ์
       •  รู้กฏแห่งธรรมดา
       •  รู้กฏเกณฑ์แห่งเหตุผล
       •  รู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล
       •  รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
       •  เมื่อเห็นผลที่ปรากฎก็รู้ว่าเกิดจากเหตุอะไร เช่น เห็นนักเรียนสอบได้คะแนนสูงสุดหรือได้ที่ ๑ ก็รู้ว่านักเรียนผู้นั้นรู้วิธีเรียนและขยันในการ
เรียน เห็นคนติดคุกก็รู้ว่าเขาทำผิดกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง
2. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล

อัตถัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักผล หมายถึง

       •  ความรู้จักอรรถ
       •  รู้ความมุ่งหมาย
       •  รู้ความหมาย
       •  รู้ประโยชน์ที่ประสงค์
       •  รู้จักผลที่เกิดสืบเนื่องจากการกระทำ รู้ความเป็นไปตามหลัก
       •  รู้จักว่าสุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้
       •  เมื่อเห็นเหตุแล้วรู้ว่าจะเกิดผลอย่างไร เช่น เห็นคนขยันขันแข็งในการทำงาน ก็รู้ว่าเขาจะตั้งตัวได้ เห็นคนติดการพนันก็รู้ว่าเขาจะยากจนเอาตัวไม่รอด เป็นต้น

สัปปุริสธรรมข้อ 1 และข้อ 2 ต้องไปด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้ กล่าวคือ ผู้มีสัปปุริสธรรม ต้องเป็นคนมีเหตุผล ไม่เป็นคนงมงาย คนมีเหตุผลย่อมเชื่อในสิ่งที่มีเหตุผล ก่อนปลงใจเชื่อสิ่งใด ก็ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ อีกประการหนึ่ง คนมีเหตุผลย่อมทำด้วยเหตุผล ไม่ใช่ทำด้วยอารมณ์ การทำงาน เช่น การศึกษา การปกครองคน การสั่งงาน การตัดสินใจ การลงโทษ การให้บำเหน็จความชอบ เป็นต้น
จะต้องยึดเหตุผลที่ถูกที่ควรเป็นใหญ่ ไม่ใช่ใช้อารมณ์หรืออคติเป็นใหญ่
3. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน

อัตตัญญุตา หมายถึง การรู้จักตนเอง ได้แก่ รู้เรื่องที่ตัวเองเป็นและรู้เรื่องที่ตัวเองมี

การรู้เรื่องที่ตัวเองเป็น หมายความว่า รู้ภาวะของตัว รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร เพราะแต่ละคนเป็นอะไร ๆ อยู่หลายอย่าง เช่น เป็นลูก เป็นนักเรียน เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นประชาชน เป็นพุทธศาสนิกชน เป็นต้น

การรู้เรื่องที่ตัวเองมี หมายความว่า รู้ฐานะของตัวเอง เช่น รู้ว่าเรามีความรู้เพียงใด มีกำลังกายเพียงใด มีรายได้เพียงใด มีศีลธรรมเพียงใด มีอำนาจหน้าที่เพียงใด เป็นต้น

คนที่ไม่รู้จักภาวะและฐานะของตน มักจะทำตัวไม่เหมาะสม ได้รับคำตำหนิติเตียน ส่วนคนที่รู้ภาวะและฐานะของตน จะประพฤติตนเหมาะสมกับภาวะและฐานะนั้น ๆ
4. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ

มัตตะ แปลว่า ประมาณ หมายถึง ความพอดี ความเหมาะสม ความสมควร
มัตตัญญุตา จึงหมายถึง ความรู้จักพอดีในกิจที่ทำและเรื่องที่พูด

ลักษณะของความพอดี คือ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป แต่ความพอดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น การบริโภคอาหาร การใช้ความพยายาม การยกของหนัก เป็นต้น แต่ละคนจึงต้องรู้จักประมาณ คือ ความพอดีของตนเอง ส่วนการพูดพอจะกำหนดความพอดีได้ด้วยเรื่อง
ที่พูด เวลาที่พูด และความสนใจของผู้ฟัง ถ้าพูดมากจนไม่มีใครฟังแล้วถือว่าเกินพอดี ถ้าพูดน้อยเกินไปจนไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้ฟัง ก็ถือว่าขาดความพอดีเช่นกัน
5. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล

ความเป็นผู้รู้จักกาล หมายถึง การรู้จักเวลา ได้แก่ การรู้เรื่องเวลา การรู้ค่าของเวลา และการรู้จักใช้เวลา

การรู้เรื่องเวลา คือ รู้เวลาเช้า สาย บ่าย เย็น กลางวัน กลางคืน วัน เดือน ปี และรู้ว่าตนควรทำอะไรในเวลาใดจึงจะถูกต้องเหมาะสม

การรู้ค่าของเวลา คือ รู้ว่าชีวิตและการงานของตนอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของเวลา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ระลึกถึงความสำคัญของ
เวลาว่า กาลเวลาย่อมกินชีวิตของสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเอง และวันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ซึ่งหมายความว่า เวลาล่วงไป ชีวิต
ของคนเราก็สั้นลงเรื่อย ๆ เราทำงานประสบความสำเร็จอะไรบ้าง ถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จ ก็เร่งมือให้ประสบความสำเร็จเสีย

การรู้จักใช้เวลา มีหลักที่ควรคำนึงอยู่ 4 ประการคือ ทำทันเวลา ทำถูกเวลา ทำตามเวลา และทำตรงเวลา

       •  งานที่มีกำหนดเวลา เช่น การทำนา การสอนนักเรียน เมื่อทำตามกำหนดเรียกว่า ทำทันเวลา
       •  งานบางอย่างขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส เช่น โอกาสควรพูดในที่ประชุม ควรพูดประเด็นก่อนหลัง เมื่อทำในจังหวะที่เหมาะสม เรียกว่า ทำถูกเวลา
       •  งานบางอย่างต้องทำตามเวลาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทำในเวลาอื่นไม่ได้ เช่น ทำพิธีบูชาในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เมื่อทำตามวันที่กำหนดนั้น เรียกว่าทำตามเวลา เป็นต้น
       •  งานบางอย่างมีการนัดหมายกัน เช่น การประชุม การพบปะเจรจาตกลงกัน หรืองานที่มีฤกษ์ เป็นต้น เมื่อไปตามเวลานัดหรือเวลากำหนด เรียกว่า ทำตรงเวลา

รวมความแล้ว ชาวพุทธจะต้องรู้เรื่องเวลา รู้ค่าของเวลา รู้จักใช้เวลา โดยทำให้ทันเวลา ทำถูกเวลา ทำตามเวลา และทำตรงเวลา
6. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน

ความเป็นผู้รู้จักชุมชน หมายถึง การรู้จักสังคม กลุ่มชน หรือหมู่หนึ่งคณะหนึ่ง กลุ่มชนนั้น ๆ มีขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีแตกต่างกัน เช่น พวกนักศึกษา พวกทหาร พวกตำรวจ พวกชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น พวกพระภิกษุ เป็นต้น ผู้ฉลาดจะเข้าสู่สังคมใด ต้องศึกษาขนบธรรมเนียม ของสังคมนั้นก่อน แล้วปรับตัวเข้ากับเขา แต่พอดีพองาม ในทำนองเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม พอให้ไม่เก้อ ไม่เปิ่น ไม่เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของคนในสังคมนั้น ๆ แต่ไม่จำเป็นต้องยอมรับขนบธรรมเนียมของเขามาเป็นของตน
7. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคลแต่ละคน

ปุคคลปโรปรัญญุตา เรียกสั้น ๆ ว่า ปุคคลัญญุตา ก้ได้ หมายความว่า รู้จักบุคคลแต่ละคน เพื่อเลือกปฏิบัติต่อคนนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง

การเลือกคบคนนั้น ต้องดูให้รู้ว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว สิ่งที่ต้องดูคือ การกรรม และวจีกรรม ของบุคคลนั้น ๆ อันจะสะท้อนให้ทราบถึงมโนกรรม อุปนิสัย และอัธยาศัย ถ้าเขาชอบทำกายทุจริต พูดวจีทุจริต ก็สันนิษฐานได้ว่า ความคิดของเขาก็เป็นมโนทุจริตเช่นกัน คนเช่นนั้นไม่ควรคบ ตรงกันข้าม ถ้าเขาทำแต่กายสุจริต พูดวจีสุจริต ก็แสดงว่าความคิดของเขาเป็นมโนสุจริต คนเช่นนั้นคบได้ การคบนั้นมีหลายฐานะ เช่น คบเป็นมิตร คบเป็นครู เป็นศิษย์ คบเป็นเจ้านาย ลุกน้อง คบเป็นสามี ภรรยา ซึ่งต้องดูให้เหมาะสมฐานะนั้น ๆ

การรู้จักคนเพื่อประโยชน์ในการปกครอง นอกจากดูว่าใใครเป็นคนดี ไม่ดี แค่ไหนเพียงไรแล้ว ต้องดูความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ สุขภาพกาย สุขภาพจิต การชอบสังคมหรือไม่ชอบสังคมของเขาด้วย เพื่อจะใช้คนให้ถูกกับงาน จะช่วยให้งานสำเร็จเรียบร้อย และเป็นที่พอใจด้วยกันทุกฝ่าย
มรรคมีองค์ ๘


มรรคมีองค์ 8 มีชื่อเต็มว่า อริยมรรคมีองค์ 8 แปลว่า ทางอันประเสริฐมีองค์ 8 ประการ หมายความว่า ทางมีทางเดียว แต่มีองค์ประกอบ 8 ประการด้วยกัน องค์ประกอบ 8 ประการนั้น มีดังต่อไปนี้
1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา การพูดชอบ
4. สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ
5. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ ความพยามยามชอบ
7. สัมมาสติ การระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น