วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

16360-208-15 พิธีไหว้ครูของนาฏศิลป์


 ความหมายของคำว่า "ไหว้ครู"
http://www.nsru.ac.th/oldnsru/webelearning/dance/Pic/worship7.gif          ในเรื่องของการไหว้ครูนับเป็นวัฒนธรรมไทยแบบหนึ่ง เป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามในส่วนที่เกี่ยวกับกิริยามารยาท สัมมาคารวะ และมีส่วนที่จะโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ให้รักษาคุณความดี รักษาวิทยาการสืบเนื่องไปด้วยดี ทั้งยังจูงใจให้เป็นผู้มีนิสัยอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง ได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่า "การไหว้ครู" อยู่หลายท่านดังนี้
          "การไหว้ครู" คือ การแสดงถึงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์ และครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า
          "การไหว้ครู" คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายปลายทางของการศึกษาตามที่ได้ตั้งใจไว้
          "การไหว้ครู" คือ การแสดงถึงความสำนึกที่ดีงาม โดยเฉพาะเรามักจะกระทำแก่สิ่งของหรือบุคคลที่มีความสำคัญแทบทั้งสิ้น เช่น นักเรียนประกอบพิธีไหว้ครู ก็เพราะนักเรียนเห็นว่าครูเป็นบุคคลที่สำคัญในชีวิตของเขา คือ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ และเป็นปูชนียบุคคล ครูอาจารย์จึงเป็นบุคคลที่คู่ควรแก่การไหว้เป็นอย่างยิ่ง

 ความสำคัญของการไหว้ครู
http://www.nsru.ac.th/oldnsru/webelearning/dance/Pic/worship8.gif          
ไทยเรามีประเพณีการไหว้ครูมาแต่โบราณ เราไหว้ครูเพราะเราเคารพในความเป็นผู้รู้ และความเป็นผู้มีคุณธรรมของท่าน คุณสมบัติทั้ง 2 ประการของครูต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับคุณธรรมของศิษย์ การเรียนการสอนจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้าจะเปรียบการเรียนการสอนเป็นต้นไม้ คุณธรรมของครูนับตั้งแต่ปัญญา ความเมตตากรุณา และความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นฐานรองรับให้ต้นไม้คงอยู่ได้ ในขณะเดียวกันคุณธรรมของศิษย์ไม่ว่าจะเป็นความเคารพ ความอดทน หรือความมีระเบียบวินัยก็เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เจริญเติบโต ออกดอกออกผลอย่างงดงาม ในความสำคัญของการไหว้ครูมีผู้กล่าวไว้ดังนี้
          "ประเพณีการไหว้ครูมีมาแต่โบราณ คนไทยเป็นคนที่มีกตัญญูอย่างแรงกล้า และได้รับการอบรมต่อๆกันมาให้เป็นผู้มีกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การที่จะกระทำกิจการใดๆ ก็ต้องได้รับคำแนะนำจากครู แม้แต่การเลียนแบบหรือลักจำเขามาก็ต้องเคารพผู้ให้กำเนิด หรือประดิษฐ์สิ่งนั้น ในการศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆต้องมีการไหว้ครูก่อนทั้งนั้น การไหว้ครูถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนศิลปการดนตรี และนาฏศิลป์ เป็นพิธีการที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ และมีพิธีรีตองมากกว่าการไหว้ครูทางหนังสือ"
          "โขน และละคอนรำเป็นศิลปะที่ถือเอากระบวนการเต้นกระบวนการรำเป็นสำคัญ เพราะการเล่นโขนเล่นละครเป็นศิลปะที่ประณีตมาก จะต้องฝึกหัดกันนานๆ จึงจะเล่นเป็นตัวดีได้ บรรดาศิษย์ที่เข้ารับการฝึกได้จึงหัดกันมาแต่เด็กๆ เมื่อหัดรำเพลงช้า และเพลงเร็วได้แล้วก็นับว่ารำเป็น พอจะออกเล่นออกแสดงเป็นเสนาหรือนางกำนัลได้ จึงจะกำหนดให้ทำพิธีไหว้ครู ถ้าหัดปี่พาทย์เมื่อบรรเลงเพลงโหมโรงได้จบก็นับว่าตีเป็นพอที่จะออกงาน เช่น บรรเลงในการสวดมนต์เย็น หรือฉันเช้าได้ก็ให้ไหว้ครูเช่นกัน และเมื่อครูอาจารย์เห็นว่าศิษย์เหล่านั้นเต้นรำทำเพลงได้ดีแล้ว ครูจึง "ครอบ" ให้ เท่ากับอนุญาตให้เป็นโขนละคอนได้ นับแต่นั้นมาก็เป็นเสมือนศิษย์นั้นๆได้ประกาศนียบัตรประกาศความเป็นโขนละคอนแล้ว นี้เป็นแบบแผนที่มีมาแต่โบราณ"
          "พิธีไหว้ครูที่ปฏิบัติกันเคร่งครัด ได้แก่ พิธีไหว้ครูอาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ ถือกันว่าเพลงหน้าพาทย์ ดนตรีบางเพลง และท่ารำบางท่า เป็นเพลง และท่ารำที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้ายังไม่ได้ทำพิธีไหว้ครู และพิธีครอบเสียก่อนแล้ว บรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าสอนกล้าหัดให้ศิษย์ ด้วยเชื่อกันว่าจะเกิดผลร้ายแก่ครูผู้สอน และแก่ศิษย์เองด้วย ถ้าเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นก็จะกล่าวกันว่า "ครูแรง" เหตุนี้โรงเรียนนาฏศิลป ของกรมศิลปากรจึงได้กำหนดงานพิธีไหว้ครู และพิธีครอบขึ้นเป็นประจำปีละครั้งในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นวันครูในตอนต้นภาคเรียนแรกแต่ละปีการศึกษา ทำนองเดียวกับโรงเรียนต่างๆ เพียงแต่มีพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์เพิ่มจากไหว้ครูธรรมดา และมีพิธีครอบประกอบด้วย เพื่อครู ศิษย์ และนักเรียนจะได้เริ่มสอนเริ่มเรียนกันไปอย่างเรียบร้อย และสบายใจ"
  
ประวัติของพิธีไหว้ครู
          การประกอบพิธีไหว้ครูนั้นไม่ปรากฎหลักฐานถึงความเป็นมาของพิธีไหว้ครู และครอบครูโขน - ละคร ว่าสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้มีการกำหนดระเบียบแบบแผน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติโดยการบอกเล่าต่อๆกันมาเป็นมุขปาฐะ ตำราพิธีไหว้ครู และครอบโขน - ละครของไทยมีอยู่ 2 ฉบับ คือ สมุดไทยมีจำนวน 3 เล่ม แต่คงเหลือเพียงเล่ม 2 เล่มเดียว ส่วนเล่ม 1 และเล่ม 3 หายไป ซึ่งเข้าใจว่ามีนักปราชญ์รวบรวมชำระทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็นพิธีไหว้ครูโขน - ละคร ฉบับหลวง ในรัชกาลที่ 4 ส่วนอีกฉบับหนึ่ง คือ สมุดไทยเล่ม 2 ที่หลงเหลือมาจากฉบับแรก ได้ตีพิมพ์ใช้เป็นแบบฉบับของการทำพิธีไหว้ครูโขน - ละครในสมัยรัชกาลที่ 6
          ในสมัยรัชกาลที่ 4 พิธีไหว้ครูโขน - ละครได้เริ่มเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2397 ส่วนการไหว้ครูนอกพระราชวังนั้นเริ่มมีมานานแล้ว เพราะได้ปฏิบัติกันเป็นประเพณีติดต่อกัน อย่างเช่น การฝึกหัดละครโนห์ราชาตรี เมื่อรำเพลงครูได้แล้ว ครูจึงสอนให้ท่องบทเพราะละครโนห์ราชาตรียังใช้ร้องกลอนสด (เหมือนอย่างเล่นเพลงลิเก) ไม่มีหนังสือบทอย่างละครในกรุงเทพฯ แล้วสอนให้ร้องให้รำทำบทไปจนพอทำได้ ผู้ที่เป็นครูหัดจึงพาไปให้ครูครอบ เรียกว่า "เข้าครู"
          นอกจากนี้ในเรื่องพิธีไหว้ครูนั้น ยังเกี่ยวข้องกับลัทธิธรรมเนียมของการแสดงโขน - ละคร เพราะลักษณะพิเศษของโขน - ละครไทยนั้น นอกจากจะเป็นนาฏศิลป์แล้วยังเป็นลัทธิอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นลัทธิมีพิธีกรรมของตนเอง และโดยเหตุนี้นาฏศิลป์ไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับศาสนาฮินดูตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ลัทธิธรรมนียมของโขน - ละครไทยที่เกิดขึ้นต่อมาจึงหนักไปทางไสยศาสตร์หรือศาสนาฮินดู เทพเจ้าอันเป็นที่นับถือในลัทธิโขน - ละครก็คือพระเป็นเจ้าของศาสนาฮินดู ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และพระพิฆคเณศ นอกจากนั้นก็มีเทพเจ้าอื่นๆอีกบางองค์ เช่น พระปรครธรรพ ผู้ซึ่งถือว่าเป็นใหญ่ในทางดนตรี รองลงมาได้แก่ ครูปัธยาย ซึ่งมีวัตถุที่เคารพแสดงออกด้วยหัวโขน ได้แก่ พระภรตฤาษี ซึ่งเป็นหัวฤาษีหน้าทอง พระนารทฤาษี ซึ่งเป็นหัวฤาษีหน้ากระดาษเขียนสี หัวพระพิราพซึ่งเป็นหัวโขนยักษ์ หัวโขนพระราม พระลักษณ์ เทริดโนห์รา และรัดเกล้าอันเป็นศิราภรณ์ของนางกษัตริย์ในเรื่องละคร หัวโขนอื่นๆที่ใช้ในการแสดงนั้นก็ถือว่าเป็นวัตถุที่เคารพทั้งสิ้น จะจับต้องหรือตั้งไว้ที่ใดกต้องกระทำด้วยความเคารพ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น