วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

16471-210-40 ลักษณ์ของเม่น

เม่นหางพวง
เม่นหางพวง 
Brush-tailed Porcupine 
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Atherurus macrourus

ลักษณะทั่วไป
    
เป็นสัตว์ฟันแทะเช่นเดียวกับเม่นชนิดอื่น แต่ตัวเล็กกว่า ขนบริเวณหลังยาวมากและจะค่อย ๆ สั้นลง ส่วนท้ายของลำตัวขนมีลักษณะแบน และเป็นร่องยาวอยู่ทางด้านบน เม่นหางพวงไม่มีขนตลอดทั่วทั้งหาง แต่ที่โคนหางจะมีขนสั้น ช่วงกลางหางมีเป็นเกล็ดๆ และที่ปลายหางมีขนขึ้นหนาเป็นกระจุกดูคล้ายเป็นพวง ขนดังที่กล่าวมานี้จะแบนคล้ายกระดาษและแหลมแข็ง แต่ขนที่หัว ขาทั้งสี่และบริเวณใต้ท้องเป็นขนแหลมแต่ไม่แข็ง ขาสั้น หูกลมเล็ก เท้ามีเล็บตรงทู่แข็งแรง เหมาะสำหรับขุดคุ้ยดิน
      

ถิ่นอาศัย, อาหาร
     เม่นหางพวง พบในประเทศจีนทางตอนใต้ เกาะไหหลำ อัสสัม พม่า ไทย อินโดจีน มาเลเซียและสุมาตรา สำหรับประเทศไทยพบทั่วไป แต่มีมากที่จังหวัดตรัง
     กินผัก หญ้า เผือก มัน หน่อไม้ ผลไม้ รากไม้บางชนิด กระดูกสัตว์ แมลง และเขาสัตว์

พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
     เม่นหางพวงพบตามป่าทั่วไป ชอบอาศัยอยู่ตามป่าใกล้น้ำ ลำธาร ลำห้วย ชอบ ขุดดินเป็นรูและเป็นโพรงชอนไปใต้ดินลึก ๆเป็นโพรงกว้าง 3–4 ฟุต ซึ่งพอสำหรับครอบครัว คือ พ่อ แม่ ลูก อยู่ได้อย่างสบาย บางครั้งขุดรูอยู่ใกล้ริมตลิ่ง ชอบออกหากินในเวลากลางคืนและไปด้วยกันหลายตัว ส่วนกลางวันมักนอนหลบซ่อนตัวในโพรงดิน หรือหลบซ่อนตัวตามรากโคนต้นไม้ใหญ่ หรือซอกหิน เม่นหางพวงวิ่งได้เร็วพอใช้ ขณะวิ่งชอบสบัดหางให้สั่นเพื่อให้เกิดเสียงขณะวิ่ง เพราะขนกระทบกันเอง เป็นการทำให้สัตว์อื่นตกใจกลัว
     เมื่อมีอายุ 2 ปีเม่นหางพวงจึงผสมพันธุ์ได้ ฤดูผสมพันธุ์ไม่แน่นอน ตั้งท้องนาน 4 เดือน ออกลูกครั้งละ 1–4 ตัว อายุยืนนาน 10 ปีเศษ

สถานภาพปัจจุบัน
     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

สถานที่ชม
      สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น