วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

16106-202-20 ทฤษฎีของ Plato เรื่องสิ่งสากล

เพลโต  ( Plato )
เกิด
427 ก่อนคริสต์ศักราช ที่กรุงเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ (Greece)
เสียชีวิต
347 ก่อนคริสต์ศักราช ที่กรุงเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ (Greece)
การแสดงผลงาน
ตั้งโรงเรียนชื่อ อะเคดามี (Academy) แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว แต่หลักการปรัชญาของเพลโตก็ยังคงมีอิทธิพลต่อแนวความคิดของการศึกษา ด้านต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาจิตวิทยา ธรรมชาติ หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ เพลโตเป็นนักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก อีกทั้งท่านยังเป็นอาจารย์ของนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกอย่าง อาริสโตเติล เพลโตเป็นนักปรัชญาที่วางรากฐานทางการศึกษาวิชาต่างๆ ไว้มากมาย เช่น การปกครอง วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ เป็นต้น
เพลโตเกิดเมื่อ 427 ก่อนคริสต์ศักราช ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในครอบครัวที่มั่งคั่งและเก่าแก่ครอบครัวหนึ่ง บิดาของเพลโตมีชื่อว่า อริสตัน (Ariston) ส่วนมารดาของเขาชื่อว่า เพริเทียน (Peritione) บิดาของเขาเป็นเพื่อนสนิทกับโสเครตีส (Cosrates 399 - 469 BC.) ซึ่งเป็นนักปรัชญ์ชาวกรีกที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง และเป็นลูกศิษย์ของปีทาโกรัส (Pythagoras) ในเวลาต่อมาเพลโตได้ศึกษาวิชาการด้านต่างๆ กับโสเครตีส ทำให้เขามีแนวความคิดคล้ายกับนักปราชญ์ทั้งสองมาก เพลโตเกิดขึ้นมาภายใต้ความวุ่นวายทางการเมืองของกรีซ เนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสปาร์ตา (Sparta) และชาวนครเอเธนส์ สงครามครั้งนี้ยุติลงด้วยชัยชนะของชาวสปาร์ตา ทำให้ชาวนครเอเธนส์ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้เพลโตมีแนวความคิดต่อต้านการเมืองอย่างรุนแรง เขาจึงมุ่งมั่นอยู่กับการศึกษาและได้รับการศึกษาขั้นต้นเช่นเดียวกับลูกผู้ดีมีเงินทั้งหลาย คือ เรียน ปรัชญา ดนตรี บทกวี และวาทศิลป์ จากอาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ของเฮราไคลตุส (Heraclitus) นักปรัชญาชาวกรีกที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ต่อมาเพลโตได้ไปศึกษาต่อในวิชาขั้นที่สูงขึ้นไปอีกกับโสเครตีส







ทฤษฎีของ Plato เรื่องสิ่งสากล
การที่จะเข้าใจว่าเพลโตขบคิดปัญหาเรื่องอะไร และทำไมจึงให้คำตอบเช่นนั้น จำเป็นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า Socrates มีทรรศนะเช่นไร เพราะปรัชญาของเพลโตเป็นการคิดต่อจากที่โสเครตีสคิดไว้ เมื่อตอนที่เราอ่านบทสนทนาเรื่อง Euthyphro คงจะจำได้ว่า โสเครตีสถามปัญหาว่า piety คืออะไร และเมื่อยูไทโฟรตอบโดยแจกแจงว่า การกระทำเช่นไรบ้างที่ pious โสเครตีสก็แย้งว่าไม่ใช่คำตอบที่ต้องการ กล่าวคือเมื่อถามปัญหาว่า "ค คืออะไร" คำตอบที่โสเครตีสต้องการคือคำนิยามของ ค เช่น "ค มีลักษณะ xyz" คำนิยามนี้สำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้เข้าใจว่าการกระทำทั้งหลายที่มีคุณสมบัติ ค นั้นมีลักษณะเช่นไรแล้ว ยังจะทำให้เราตัดสินได้ว่า ถ้าคนผู้หนึ่งอ้างว่าการกระทำของตนมีคุณสมบัติ ค นั้น (เช่นกรณีที่ยูไทโฟรกล่าวว่าการที่ตนนำบิดาของตนขึ้นฟ้องศาลเป็นการกระทำที่ pious) เป็นความจริงหรือไม่ เช่นถ้า ค มีลักษณะสามประการคือ x y และ z และถ้าการกระทำนั้นไม่มีลักษณะทั้งสาม เราก็ตัดสินได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีคุณสมบัติ ค เหตุที่โสเครตีสไม่ยอมรับคำตอบของยูไทโฟรก็เพราะไม่ได้ตอบว่า ค มีลักษณะอะไรบ้าง บอกแต่ว่าการกระทำใดบ้างมีคุณสมบัติ ค
สิ่งที่โสเครตีสทำมิใช่จะไร้สาระ ตัวเขาสนใจเรื่องคุณธรรม และต้องการแสวงหาความรู้ว่าคุณธรรมคืออะไร คำถามที่โสเครตีสถามก็อย่างเช่น ความกล้าหาญ ความยุติธรรม คืออะไร โสเครตีสเชื่อว่าถ้าเราไม่สามารถหาคำนิยามของคุณธรรมเหล่านี้ได้ เราก็จะไม่สามารถมีความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมได้ และการตัดสินว่าการกระทำหนึ่งมีความยุติธรรม หรือกล้าหาญ ฯลฯ หรือไม่ ย่อมปราศจากหลักเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือ
เพลโตรับทรรศนะของโสเครตีสมา และได้พัฒนาต่อไปอีก เพลโตมิได้เชื่อแค่ว่า คำว่า กล้าหาญ ยุติธรรม ฯลฯ จะต้องมีคำนิยามที่สามารถสืบหาได้เท่านั้น แต่ยังเชื่อด้วยว่า คุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่จริงต่างหากจากสิ่งที่กล้าหาญ สิ่งที่ยุติธรรม ฯลฯ  เพลโตหมายความว่าอย่างไรที่บอกว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง การที่จะเข้าใจต้องเทียบกับทรรศนะที่ตรงกันข้าม เราอาจบอกว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นเพียงชื่อ เมื่อเราเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มีสีขาว ซึ่งสีขาวในสิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกันทีเดียว บางอันขาวมาก บางอันขาวน้อย แต่มีความคล้ายคลึงกันพอที่จะจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกันได้ เราก็รวมไว้ในประเภทเดียวกันและให้ชื่อว่า ความขาว ตามทรรศนะเช่นนี้ ความขาว ความกล้าหาญ ฯลฯ เป็นเพียงชื่อ สิ่งที่มีอยู่จริงคือสิ่งต่าง ๆ และสีขาวอันหลากหลายที่ไม่เหมือนกันในแต่ละสิ่งที่มีสีขาว ทรรศนะของเพลโตที่ตรงข้ามกับทรรศนะเช่นนี้ก็คือ ความขาวมิได้เป็นแต่เพียงชื่อ แต่มีอยู่จริงต่างหากจากสีขาวหลายหลากชนิดที่เราพบในสิ่งทั้งหลาย
ถ้าความขาว ความกล้าหาญ ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ก็จะมีอยู่ในฐานะที่เป็นนามธรรม มิอาจสัมผัสได้ด้วยประสาททั้งห้าของเรา แต่สามารถรู้ได้ด้วยเหตุผล (ดูในบทสนทนา Phaedo ที่แจกพร้อมกับ Meno) ในวงการปรัชญาเรียกสิ่งที่มีอยู่อย่างเป็นนามธรรมนี้ว่า abstract entities คุณสมบัติเช่น ความขาว ความยุติธรรม เป็นเพียง abstract entities ประเภทหนึ่ง ประเภทอื่นก็อย่างเช่น คน เสือ ช้าง ดาวฤกษ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นประเภทที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการจัดแบ่งสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาล และจำนวนเช่น หนึ่ง สอง ก็จัดเป็น abstract entities อีกประเภทหนึ่ง สิ่งที่ถกเถียงกันในวงการปรัชญาก็คือ abstract entities มีหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงชื่อ
เพลโตสนใจ abstract entities ประเภทที่เป็นคุณสมบัติมากกว่าอย่างอื่น คำถามก็คือเหตุใดเพลโตจึงคิดว่าคุณสมบัติมีอยู่จริง ปัญหาที่นำเขามาสู่เรื่องนี้ก็คือปัญหาที่เรียกกันว่า ความเป็นหนึ่งในท่ามกลางความหลายหลาก  ของหลายอย่างมีสีขาว และสีขาวที่มีก็แตกต่างกันไป ขาวมาก ขาวน้อย หรือเกือบจะเป็นสีเหลือง แต่กระนั้นเรามีคำเพียงคำเดียวเพื่อใช้เรียกสีนี้ เราจะอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร การกล่าวว่าสีขาวเป็นเพียงชื่อใช้เรียกสิ่งที่คล้ายกันยังไม่เป็นคำตอบที่น่าพอใจ เพราะเราสามารถถามได้ว่า คล้ายกันในแง่ใด คำตอบหนีไม่พ้นที่จะอ้างถึงสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียว การบอกว่าความขาวเป็นเพียงชื่อเป็นการปฏิเสธความเป็นหนึ่งเดียว แต่เมื่อเราไม่อาจเลี่ยงการกล่าวถึงความเป็นหนึ่งเดียวนี้ได้ ก็ควรจะยอมรับว่าสิ่งนี้มีอยู่ การบอกว่าความเป็นหนึ่งเดียวคือมีชื่อเดียวไม่อาจทำให้เพลโตพอใจได้ เพราะถามได้ว่าชื่อนี้เป็นชื่อของอะไร
กล่าวโดยสังเขป เพลโตอ้างว่าเราต้องเชื่อว่าคุณสมบัติมีอยู่จริงเพราะเป็นวิธีเดียวที่น่าพอใจในการอธิบายเรื่องความเป็นหนึ่งในความหลายหลาก หลักเกณฑ์ที่อยู่เบื้องหลังการอ้างเช่นนี้ก็คือ ในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ หากเราไม่สามารถเลี่ยงที่จะอ้างถึงสิ่งหนึ่งได้ สิ่งนั้นต้องมีอยู่จริง การมีอยู่ไม่จำเป็นต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสที่เรามี วิทยาศาสตร์เองอ้างถึงหลายสิ่งว่ามีอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่อาจสัมผัสได้ ไม่ว่าจะด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์หรือเครื่องมือ
คุณสมบัติที่เพลโตเชื่อว่ามีอยู่จริงเรียกกันในวงการปรัชญาว่า universal (สิ่งสากล) ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะปรากฏอยู่ทั่วไปใน particular (สิ่งเฉพาะ) กล่าวคือ ความขาวปรากฏอยู่ทั่วไปในสิ่งที่มีสีขาว ในบทสนทนาของเพลโตที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ใช้คำเรียกสิ่งสากลว่า Form หรือ Idea ทฤษฎีของเพลโตจึงรู้จักกันในนามของ Theory of Forms หรือ Theory of Ideas

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น