วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

16424-209-37 สังคหวัตถุ 4



สังคหวัตถุ 4 : หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

สังคหวัตถุ 4 หลักธรรม 4 ประการที่ใช้ในการผูกมิตร ประกอบด้วย
1. ทาน หมายถึง การให้
2. ปิยะวาจะ หมายถึง การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน
3. อัตถจริยา หมายถึง การกระทำตนให้เป็นประโยชน์
4. สมานัตตตา หมายถึง การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย

        ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า การที่เรามาอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นต้องปฏิบัติตนอย่างไร จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทรงได้ให้หลักธรรมในการดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเป็นสุขคือ สังคหวัตถุ 4 ซึ่งประกอบด้วยหลักธรรม 4 ข้อ ได้แก่ ทาน  ปิยวาจา  อัตถจริยา  และ สมานัตตา โดยมีรายละเอียดแต่ละข้อดังนี้



       
        1.ทาน คือการให้ เราจะเห็นว่าหลักธรรมหลายข้อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะขึ้นต้นด้วย "ทาน" เพราะเราทุกคนล้วนมีกิเลส ซึ่งกิเลสตัวแรกที่มักจะเจอคือ ความอยากได้ เมื่ออยากได้ก็เกิดความไม่อยากให้ ดังนั้น ทานจึงมักอยู่เป็นข้อเบื้องต้นในหลักธรรมต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่ร่วมกัน ทานในที่นี้มี 2 ประการก็คือ ทานที่ให้เป็นบุญ และทานที่ให้เป็นคุณ

               
 ทานที่ให้เป็นบุญ ได้แก่ การสร้างกุศล บำเพ็ญบุญทั้งหลาย เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นต้น

                ทานที่ให้เป็นคุณ ได้แก่ การให้สิ่งของการให้ของขวัญ เป็นต้น

        ในเรื่องของบุญกุศล ถ้าเป็นการทอดกฐินถือเป็นการให้แบบ จาคะ แต่ถ้าความมุ่งหมายแบบสังคหวัตถุ 4 เรามุ่งที่การให้แบบที่ 2 คือให้เพื่อเป็นคุณ เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มักขาดแคลน เมื่อเราไปช่วยเขา ก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันขึ้นมา


        2. ปิยวาจา การพูดวาจาที่ไพเราะ ฟังแล้วเกิดความชื่นใจ เบิกบานใจ เช่นเราศึกษาธรรมะได้ข้อคิดดีๆ ก็นำสิ่งเหล่านี้ไปบอกคนที่เรารัก คนที่เรารู้จัก เป็นต้น สิ่งที่เราจะพูดนั้นต้องเป็นเรื่องจริง เป็นคำสุภาพ ไพเราะนิ่มนวล พูดออกไปแล้วเกิดประโยชน์ เวลาพูดก็ต้องพูดด้วยจิตที่มีเมตตา เช่นว่า ถ้าเราจะไปตักเตือนใคร เราก็เลือกคำอย่างดีไปบอกเขาไปบอกด้วยจิตที่เมตตาหวังดีต่อเขา  เช่นเดียวกัน เมื่อเขามาบอกหรือตักเตือนเรา เราก็ต้องทบทวนว่าเขาอยากบอกอะไรกับเรา และหากเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่เราต้องปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นเราก็ควรไปขอบคุณเขา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้ว่า บุคคลที่มาแนะนำเราสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่เรา เมื่อเห็นเราผิดพลาด เรียกว่า "ผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้"


และสิ่งสุดท้ายที่ต้องพิจารณาในการพูดคือ ต้องเลือกเวลาในการพูด พูดให้ถูกกาลเทศะด้วย ถ้าจำเป็นต้องพูดในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น เวลาที่ผู้ฟังกำลังอารมณ์ไม่ดี หรือกำลังยุ่งนั้น เราก็ต้องเลือกคำให้ดีที่สุด


        3. อัตถจริยา คือทำตนให้เป็นประโยชน์ บางครั้งในการทำงานอาจขาดกำลังแต่ถ้าเราช่วยกันงานที่ว่ายากก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้ถ้าเราร่วมมือกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราเกิดรักความผูกพันชองบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคม ในการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์มี 2 ประการ คือ ต้องทำตัวเราให้เป็นคนดี มีประโยชน์เสียก่อน และสร้างประโยชน์ให้คนอื่นรอบข้าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสบุคคลไว้ 3 ประเภทคือ

1.อัตถจารีย์ ผู้ที่สร้างประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน บุคคลแบบนี้น่ายกย่อง น่าสรรเสริญ

2.โมฆะบุรุษ บุรุษผู้ว่างเปล่า ไม่เอาอะไรเลย เฉยๆ ไม่ทำทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

3.อนัตถัตจารีย์ ผู้ทำสิ่งไม่ใช้ประโยชน์ ถ้าเป็นเรื่องไม่ดี พวกนี้ชอบทำ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เราต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่แล้งน้ำใจจึงจะเกิดความสุขได้ในสังคมนั้นๆ


        4. สมานัตตตา การวางตนให้พอดีในหน้าที่ของตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คือ วางตนให้เหมาะสมว่าตอนนี้เราอยู่ในฐานะอะไร เช่น พ่อก็มีหน้าที่เลี้ยงดูลูก แม่ก็มีหน้าที่ดูแลบ้านดูแลครอบครัว ลูกเองก็มีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน และเมื่อเราทำงาน ถ้ามีใครไม่ทำตามหน้าที่แล้ว ย่อมจะเกิดปัญหาเรื่องการก้าวก่ายหน้าที่กันตามมา จนอาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตขึ้นได้ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้การวางตนให้เหมาะสม จะช่วยให้ไม่ต้องระวาดระแวงในการทำหน้าที่ของตน ซึ่งจะส่งผลให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปลอดภัยและสบายใจ

        กล่าวโดยสรุป สังคหวัตถุ 4 คือ หลักธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข ซึ่งได้แก่ ทาน คือการให้ ทั้งทานที่ให้เป็นบุญ และทานที่ให้เป็นคุณ ปิยวาจา คือการพูดวาจาที่ไพเราะ ฟังแล้วเกิดความชื่นใจ อัตถจริยา คือทำตนให้เป็นประโยชน์ แก่ผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม สมานัตตตา คือวางตนให้เหมาะสมว่าตอนนี้เราอยู่ในฐานะใด หลักธรรม 4 ประการนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจผู้คนในสังคมให้อยู่กันอย่างสันติสืบต่อไป

หลักสังคหวัตถุ 4
สังคหวัตถุ แปลว่า วิธีสงเคราะห์ หมายถึง วิธีปฏิบัติเพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจคนอื่นที่ยังไม่เคยรักใคร่นับถือ หรือที่รักใคร่นับถืออยู่แล้วให้สนิทแนบยิ่งขึ้น พูดง่าย ๆ สังคหวัตถุ ก็คือ เทคนิควิธีทำให้คนรัก หรือมนต์ผูกใจคน นั่นเอง มีทั้งหมด 4 ประการ ดังนี้
1.1 ทาน ทาน คือ การให้ ได้แก่ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแบ่งปันช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของ การให้ทานให้เพื่อขจัดกิเลส เช่น การบริจาคทานแก่นสมณชีพราหมณ์ ผู้ทรงศีล เพื่อขจัดความโลภหรือความตระหนี่ เป็นการชำระจิตใจให้สะอาด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น และการให้เพื่อสงเคราะห์หรือเพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจคนอื่น การทำทานโดยให้สังคหวัตถุนี้ ในแง่ปฏิบัติ หมายถึง การเฉลี่ยหรือแบ่งให้จากส่วนที่คนมีอยู่ มิใช่ให้มากมายจนไม่เหลือ หรือให้จนผู้รับร่ำรวย จุดประสงค์เน้นที่การแสดงอัธยาศัยไมตรีมากกว่าความมากหรือน้อยของวัตถุที่ให้ เพราะฉะนั้น คนยากจนหรือคนที่มีวัตถุสิ่งของเล็กน้อยก็สามารถแบ่งปันให้ทานผู้อื่นได้ตามอัตภาพของตน เช่น การแบ่งปันอาหารให้เพื่อน แบ่งปันเครื่องเขียนให้เพื่อน เป็นต้น คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า     ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่ สิ่งจี  รังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้
1.2 ปิยวาจา ได้แก่ การพูดคำสุภาพ อ่อนหวาน เพื่อให้เกิดความสมานสามัคคี ปิยวาจาทำได้ง่าย เพราะวาจานั้นมีในตัวเรา เพียงเรามีสติ มีเมตตาในใจก็สามารถพูดออกมาได้ คำพูดมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
(1) คำพูดที่พูดออกไปแล้วคนฟังเกลียด เช่น คำหยาบ คำด่า คำประชด คำกระทบกระเทียบ คำแดกดัน คำสบถ เป็นต้น คำพูดเหล่านี้เรียกว่า "อัปปิยวาจา"
(2) คำพูดที่พูดออกไปแล้วทำให้คนฟังรัก เช่น คำอ่อนหวาน คำชมเชยจากใจจริง คำพูดที่ชวนให้เกิดความสมัครสมานไมตรี เป็นต้น
1.3 อัตถจริยา หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือกันและกันในวงแคบ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในวงกว้าง หลักธรรมข้อนี้มุ่งสอนให้คนพัฒนาตน 2 ด้าน คือ การทำตนให้เป็นประโยชน์ และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ การทำตนให้เป็นประโยชน์ หมายถึง ทำตนให้มีคุณค่าในสังคมที่ตนอาศัยอยู่ อย่างคำพังเพยที่ว่า "อยู่บ้านท่านอย่างนิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น" หรือ "อยู่ก็ให้เขาไว้ใจไปก็ให้เขาคิดถึง" คนที่ไม่นิ่งดูดายมีอะไรพอจะช่วยเหลือคนอื่นและสังคมได้ก็เอาใจใส่ขวนขวายช่วยเหลือตามสติกำลัง ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "คนทำหมู่คณะให้งดงาม" อยู่ที่ไหนก็สร้างความเจริญที่นั้น วิธีทำตนให้เป็นประโยชน์และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ อาจทำได้หลายวิธี เช่น การตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ฝึกฝนอบรมตนให้เป็นคนเจริญด้วยความรู้ ความสามารถ เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์เป็นนักเรียนที่ดีของสถานศึกษา เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ตลอดจนเป็นศาสนิกชนที่ดีของพระพุทธศาสนา
1.4 สมานัตตตา การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย หมายถึง การวางตนได้เหมาะสม มีความหมาย 2 ประการ คือ (1) วางตนได้เหมาะสมกับฐานะที่ตนมีอยู่ในสังคม เช่น เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นบิดามารดา เป็นครูอาจารย์ เป็นเพื่อนบ้าน เป็นต้น ตนอยู่ในฐานะอะไรก็วางตนให้เหมาะสมกับฐานะที่เป็นอยู่ และทำได้อย่างเสมอต้นเสมดปลาย
(2) ปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อคนทั้งหลาย ให้ความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เสมอในสุขและทุกข์ คือ ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมรับรู้ปัญหา และร่วมแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของสังคม
คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย
ประโยชน์ของสังคหวัตถุ 4
สังคหวัตถุ 4 ประการดังกล่าวมาแล้ว อำนวยประโยชน์ที่มองเห็นได้เป็นรูปธรรมดังต่อไปดังนี้
1. ช่วยให้บุคคลดำรงตนอยู่ได้ในสังคมด้วยความสุข
2. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ สมานไมตรีระหว่างกัน
3. เป็นเครื่องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ให้มีความเคารพนับถือกันตามสมควรแก่ฐานะ
4. เป็นเครื่องประสานองค์ประกอบต่างๆ ของสังคมให้คงรูปอยู่และดำเนินไปได้ด้วยดี
5. ช่วยส่งเสริมศีลธรรมและป้องกันความประพฤติเสื่อมเสียในสังคม




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น